เบื้องหลังตลาด

การเทรดตามโมเมนตัม: เคล็ดลับและอินดิเคเตอร์ยอดนิยม

ด้วย Paul Reid

Momentum trading

การทำความเข้าใจและการเทรดตามการเปลี่ยนแปลงของโมเมนตัมตลาดนั้นอาจเป็นเรื่องน่ากังวลใจ อย่างไรก็ตาม การใช้บางกลยุทธ์สามารถช่วยให้เทรดเดอร์มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จได้มากขึ้น หนึ่งในกลยุทธ์ดังกล่าวคือการเทรดตามโมเมนตัม ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากโมเมนตัมของแนวโน้มราคาในสินทรัพย์ต่างๆ

เราจะมาเจาะลึกโลกของการเทรดตามโมเมนตัม และมาดูกันว่าเทรดเดอร์ใช้วิธีนี้คว้าและเพิ่มโอกาสในการทำกำไรได้อย่างไร โดยจะศึกษาแนวคิดหลัก อินดิเคเตอร์ต่างๆ และตัวอย่างที่ใช้งานได้จริง เป็นการให้ความกระจ่างเกี่ยวกับกลยุทธ์การซื้อขายยอดนิยมนี้ สิ่งที่จะพูดถึงในบทความนี้ ได้แก่

  • ความหมายของการเทรดตามโมเมนตัม

  • การจับแนวโน้มและโมเมนตัมของราคา

  • การใช้อินดิเคเตอร์ในการเทรดตามโมเมนตัม

  • ดัชนี RSI (Relative Strength Index)

  • เส้น MACD (Moving Average Convergence Divergence)

  • ดัชนี Stochastic Oscillator

  • การประเมินภาคการตลาดและหุ้นเพื่อหาโมเมนตัม

  • เคล็ดลับการเทรดสำหรับเทรดเดอร์ที่เทรดตามโมเมนตัม

  • คำถามที่พบบ่อยของการเทรดตามโมเมนตัม

ความหมายของการเทรดตามโมเมนตัม

โดยหลักการพื้นฐานแล้ว โมเมนตัมของราคาคือแนวคิดที่ว่าราคาจะมีแนวโน้มต่อเนื่องบ่อยกว่าการกลับตัว ดังนั้น การตามแนวโน้มในเชิงสถิติก็ถือเป็นทางเลือกที่ชาญฉลาดกว่า เทรดเดอร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการเทรดตามโมเมนตัมและการเทรดตามแนวโน้มเป็นวิธีการที่ปลอดภัยกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่สามารถคาดการณ์ตลาดได้ และไม่มีวิธีคาดการณ์แบบตายตัวที่จะสามารถวิเคราะห์ได้ถูกต้องทุกครั้ง ซึ่งจะต้องคำนึงถึงประเด็นนี้เมื่อทดสอบการเทรดตามโมเมนตัม และนำความรู้เรื่องนี้มาเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดงบประมาณการเทรดของคุณ

สิ่งที่น่าสังเกตคือ แม้ว่าการเทรดตามโมเมนตัมมักจะเกิดขึ้นกับการเทรดหุ้น แต่ก็เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการเทรดสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่นกัน

อินดิเคเตอร์ในการเทรดตามโมเมนตัม

หากต้องการดูการนำอินดิเคเตอร์โมเมนตัมไปใช้จริง สามารถทำได้โดยลงทะเบียนอีเมลของคุณเพื่อเข้าถึง Exness Terminal ได้ทันที ใช้บัญชีทดลองที่ให้บริการเพื่อทำความคุ้นเคยกับอินดิเคเตอร์ในการเทรดตามโมเมนตัมแบบไม่มีความเสี่ยง

บนเทอร์มินัลการซื้อขายของ Exness ที่ด้านบนซ้าย คุณจะเห็นเมนูกล่องตัวเลือกซึ่งแสดงอินดิเคเตอร์ยอดนิยมไว้กว่า 100 รายการ ค้นหา "โมเมนตัม" และเลือกจากรายการดังกล่าวเพื่อวางอินดิเคเตอร์โมเมนตัมไว้ด้านล่างกราฟ ง่ายๆ แค่นี้เอง แล้วอินดิเคเตอร์โมเมนตัมแสดงอะไรบ้าง

อินดิเคเตอร์โมเมนตัมเป็นตัววัดอัตราการเปลี่ยนแปลงราคาของหุ้น โดยทั่วไป โมเมนตัมแนวโน้มของหุ้นจะช้าลงก่อนการเปลี่ยนทิศทาง หากอินดิเคเตอร์โมเมนตัมตัดเส้นศูนย์ เทรดเดอร์ที่เทรดตามโมเมนตัมจะถือว่านี่เป็นสัญญาณจุดเข้าและจุดออกในการเทรดที่เป็นไปได้

ในการปฏิบัติให้สอดคล้องกับกลยุทธ์การซื้อขายตามโมเมนตัม เทรดเดอร์ที่เข้าถือสถานะเมื่ออินดิเคเตอร์โมเมนตัมตัดเหนือเส้นศูนย์ก็อาจถือสถานะนั้นไว้ตราบเท่าที่อินดิเคเตอร์ยังอยู่เหนือเส้นศูนย์

เมื่ออินดิเคเตอร์โมเมนตัมตัดมาอยู่ใต้เส้นศูนย์ เทรดเดอร์ที่เทรดตามโมเมนตัมถือว่านี่เป็นตัวบ่งชี้ว่าโมเมนตัมกำลังตกและแนวโน้มปัจจุบันกำลังมาถึงจุดจบแล้ว หากอินดิเคเตอร์โมเมนตัมยังอยู่เหนือ 0 เทรดเดอร์ก็มักเปิดคำสั่งซื้อขายนั้นค้างไว้ แต่เมื่ออินดิเคเตอร์ตัด 0 อีกครั้งหนึ่ง เทรดเดอร์จะถือว่าเป็นจุดที่จะต้องออกจากเทรดทันที

เคล็ดลับ: แม้จะฟังดูง่าย แต่ขอให้จำไว้ว่า จุดตัดต่างๆ ไม่ได้เป็นสัญญาณจุดเข้าหรือออกที่เชื่อถือได้เสมอไป เนื่องจากอินดิเคเตอร์โมเมนตัมสามารถสร้างสัญญาณมากมายเมื่อตัดเหนือหรือต่ำกว่าเส้นศูนย์

เพื่อช่วยลดจำนวนสัญญาณจุดเข้าและจุดออกเทรด ให้พิจารณาใช้เงื่อนไขเพิ่มเติมเป็นตัวกรอง ตัวกรองดังกล่าว ได้แก่ การใช้ รูปแบบราคา หรือการทดสอบแนวโน้มโดยรวมของตลาดหุ้นในวงกว้าง

การเทรดตามโมเมนตัมมีรากฐานมาจากการวิเคราะห์ทางเทคนิค การจับตาดูแนวโน้มบนกราฟที่แสดงโมเมนตัมแข็งแกร่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะดูด้วยตาเปล่า แต่อาจมีเทรดเดอร์ที่มีประสบการณ์ในการเทรด 3 ถึง 5 ปีบางรายสามารถทำได้

สำหรับเทรดเดอร์ที่เทรดตามโมเมนตัมที่ต้องการความช่วยเหลือ อินดิเคเตอร์สามารถช่วยได้ ซึ่งมีอินดิเคเตอร์ 3 ตัวที่เทรดเดอร์ที่เทรดตามโมเมนตัมมักใช้กัน

3 อินดิเคเตอร์ยอดนิยมในการเทรดตามโมเมนตัม

เทรดเดอร์ส่วนใหญ่จะวางซ้อนอินดิเคเตอร์ต่างๆ เพื่อการวิเคราะห์ที่แม่นยำยิ่งขึ้น โดยเทรดเดอร์ที่เทรดตามโมเมนตัมมักจะใช้อินดิเคเตอร์ถึง 3 ตัว

  1. ดัชนี RSI (Relative Strength Index)

  2. เส้น MACD (Moving Average Convergence Divergence)

  3. ดัชนี Stochastic Oscillator

ดัชนี RSI (Relative Strength Index)

RSI เป็นอินดิเคเตอร์ที่ได้รับความนิยมในบรรดาเทรดเดอร์ที่เทรดตามโมเมนตัม โดย RSI จะเป็นตัววัดความเร็วและการเปลี่ยนแปลงความเคลื่อนไหวของราคา บนเทอร์มินัลการซื้อขายของ Exness ให้คลิกปุ่มอินดิเคเตอร์ที่ด้านซ้ายบน จากนั้นหาคำว่า "RSI" แล้วเลือก Relative Strength Index

ที่ด้านล่างของกราฟ คุณจะเห็นกราฟซึ่งมีระยะเริ่มจาก 0 ถึง 100 กลยุทธ์ RSI แนะนำว่าสินทรัพย์ใดๆ ที่มีการอ่านค่าเกิน 70 บ่งบอกถึงสถานการณ์การซื้อมากเกินไป ซึ่งว่ากันว่าจะส่งผลให้โมเมนตัมชะลอตัวลงและอาจกลับตัวในที่สุด ในทำนองเดียวกัน การอ่านค่าน้อยกว่า 30 บ่งบอกถึงสถานะที่มีการขายมากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่การสิ้นสุดของโมเมนตัมขาลง

เส้น MACD (Moving Average Convergence Divergence):

MACD เป็นอินดิเคเตอร์อีกตัวที่ช่วยในการวิเคราะห์โมเมนตัม MACD ประกอบด้วยเส้นสองเส้น ได้แก่ เส้น MACD และเส้นสัญญาณ เมื่อเส้น MACD ตัดขึ้นเหนือเส้นสัญญาณ ก็จะเกิดสัญญาณแนวโน้มขาขึ้น บ่งชี้ว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงโมเมนตัม

ในทางกลับกัน เมื่อเส้น MACD ตัดลงต่ำกว่าเส้นสัญญาณ ก็จะเกิดสัญญาณแนวโน้มขาลง บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงโมเมนตัม นอกจากนั้น ระยะห่างระหว่างเส้น MACD และเส้นสัญญาณยังแสดงถึงความแข็งแกร่งของโมเมนตัม เทรดเดอร์มักใช้ MACD ร่วมกับอินดิเคเตอร์ตัวอื่นเพื่อตัดสินใจเทรดจากข้อมูลสำคัญ

ดัชนี Stochastic Oscillator

ดัชนี Stochastic Oscillator ทำหน้าที่วัดโมเมนตัมของราคาด้วยการเปรียบเทียบราคาปิดปัจจุบันกับกรอบราคาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อินดิเคเตอร์ตัวนี้จะสร้างค่าขึ้นมาระหว่าง 0 ถึง 100 ซึ่งการอ่านค่าเกิน 80 ถือว่ามีการซื้อที่มากเกินไป และการอ่านค่าต่ำกว่า 20 ถือว่ามีการขายที่มากเกินไป

เคล็ดลับการเทรดสำหรับเทรดเดอร์ที่เทรดตามโมเมนตัม

ไม่มีวิธีการเทรดใดที่ไม่ผิดพลาด แต่การเทรดตามโมเมนตัมหรือการเทรดตามแนวโน้มถือเป็นวิธีการที่เชื่อถือได้มากกว่าการรอการกลับตัวและการเทรดราคาที่แกว่งตัว

เทรดเดอร์ยังควรคำนึงถึงการวิเคราะห์และเปรียบเทียบภาคการตลาดและหุ้นรายตัวเพื่อหาโอกาสที่เป็นไปได้เมื่อต้องเทรดตามโมเมนตัม ตัวอย่างเช่น หากหุ้นเทคโนโลยีรายใหญ่ทำผลงานได้ดี บริษัทเทคโนโลยีที่คนรู้จักน้อยกว่าอาจแสดงปฏิกิริยาขาขึ้นตามไปด้วยเนื่องจากความสนใจที่ล้นหลามในภาคส่วนนี้

หากอินดิเคเตอร์ ความเชื่อมั่นในภาคส่วน รูปแบบกราฟ ข่าวสารการเงิน และปัจจัยพื้นฐานต่างยืนยันแนวโน้ม ก็ถือว่าถึงเวลาที่ต้องเข้าเทรดในตลาดแล้ว

การหาจุดออกไม่ใช่เรื่องง่าย เทรดเดอร์ที่เทรดตามโมเมนตัมมีทฤษฎีมากมายในการกำหนดจุดออก แต่หลักการที่ดีที่สุดคือต้องไม่ให้อารมณ์ ความเชื่อมั่น หรือความโลภมามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ

หากสินทรัพย์มีความผันผวนตามรอบเวลา ให้พิจารณาตั้งค่า Stop Loss และ Take Profit ไม่ไกลจากกรอบราคาของสินทรัพย์ หากคุณมีแผนจะเปิดคำสั่งซื้อขายทิ้งไว้เป็นเวลาเกินหนึ่งสัปดาห์ ให้ย้อนดูกรอบราคาในช่วงเดือนที่ผ่านมา คาดการณ์โดยยึดหลักความเป็นจริง และเข้มงวดเกี่ยวกับขีดจำกัดการขาดทุน ยอมขาดทุนเล็กน้อยแล้วและเก็บเงินทุนเอาไว้สำหรับการเทรดครั้งหน้าย่อมดีกว่า

ประการสุดท้าย การกลับตัวที่รุนแรงที่สุดมักเกิดขึ้นโดยไม่มีการบ่งบอกหรือการเตือนจากกราฟ หากคุณพลาดความเคลื่อนไหวของพฤติกรรมราคา อย่าโกรธตัวเองและอย่าให้การขาดทุนมีอิทธิพลต่อการเทรดครั้งหน้าของคุณ คว้าทุกโอกาสในการเทรดครั้งใหม่ทุกวันด้วยใจที่คิดวิเคราะห์อย่างค่อยเป็นค่อยไป และดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะอย่างไม่มีอคติ


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเทรดตามโมเมนตัม

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการเทรดตามโมเมนตัมมีดังนี้

คำถาม. การเทรดตามโมเมนตัมคืออะไร

การเทรดตามโมเมนตัมเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่เทรดเดอร์ใช้เพื่อทำกำไรจากความต่อเนื่องของแนวโน้มราคาที่มีอยู่ในสินทรัพย์ต่างๆ โดยเป็นการดูว่าสินทรัพย์มีความเคลื่อนไหวขาขึ้นหรือขาลง และคว้าโอกาสในการทำกำไรจากโมเมนตัมของสินทรัพย์เหล่านั้น

คำถาม. เทรดเดอร์ระบุแนวโน้มและโมเมนตัมของราคาอย่างไร

เทรดเดอร์ระบุแนวโน้มและโมเมนตัมของราคาโดยการวิเคราะห์กราฟราคาและดูรูปแบบของความเคลื่อนไหวว่าเป็นขาขึ้นคงที่หรือขาลงคงที่ เทรดเดอร์อาจใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคและอินดิเคเตอร์ต่างๆ เพื่อตรวจสอบแนวโน้มและวัดความแข็งแกร่งของโมเมนตัม

คำถาม. อินดิเคเตอร์มีบทบาทอย่างไรในการเทรดตามโมเมนตัม

อินดิเคเตอร์เป็นสิ่งที่จำเป็นในการเทรดตามโมเมนตัม เนื่องจากช่วยเทรดเดอร์ยืนยันแนวโน้ม หาจุดเข้าและจุดออกที่เป็นไปได้ และประเมินความแข็งแกร่งของโมเมนตัมตลาด อินดิเคเตอร์ที่ได้รับความนิยมได้แก่ Relative Strength Index (RSI), Moving Average Convergence Divergence (MACD) และ Stochastic Oscillator

คำถาม. สามารถประเมินภาคการตลาดและหุ้นสำหรับการเทรดตามโมเมนตัมได้อย่างไร

เทรดเดอร์สามารถประเมินภาคการตลาดและหุ้นรายตัวสำหรับการเทรดตามโมเมนตัมได้ด้วยการวิเคราะห์แนวโน้มโดยภาพรวมภายในภาคส่วน และการเลือกหุ้นที่มีโมเมนตัมที่แข็งแกร่งภายในภาคส่วนเหล่านั้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการหาสินทรัพย์ที่มีโมเมนตัมสูงและมีศักยภาพในการทำกำไร

คำถาม. เทรดเดอร์สามารถกำหนดจุดเข้าและจุดออกในการเทรดตามโมเมนตัมได้อย่างไร

เทรดเดอร์กำหนดจุดเข้าและจุดออกด้วยอินดิเคเตอร์และรูปแบบของกราฟ เป้าหมายราคาและคำสั่ง Trailing Stop Loss มักถูกนำมาใช้เพื่อปกป้องกำไรและจำกัดการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้น

คำถาม. การจัดการความเสี่ยงในการเทรดตามโมเมนตัมมีความสำคัญอย่างไร

การจัดการความเสี่ยงเป็นเรื่องสำคัญในการเทรดตามโมเมนตัม เนื่องจากช่วยเทรดเดอร์ปกป้องเงินทุนและลดการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้น เทรดเดอร์ควรใช้การกำหนดขนาดสถานะที่เหมาะสม ตั้งค่าคำสั่ง Stop Loss และมีความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับการยอมรับความเสี่ยงเพื่อจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คำถาม. มีตัวอย่างการเทรดตามโมเมนตัมหรือไม่

ตัวอย่างในทางปฏิบัติของการเทรดตามโมเมนตัม ได้แก่ การระบุหุ้นที่เคยประสบกับการ Breakout หรือ Breakdown ที่สำคัญ การใช้อินดิเคเตอร์เพื่อยืนยันโมเมนตัม และการเข้าเทรดตามแนวโน้ม นอกจากนั้น เทรดเดอร์อาจมองหาหุ้นที่มีแนวโน้มแข็งแกร่งในภาคส่วนที่เลือก และทำกำไรจากโมเมนตัมของหุ้นดังกล่าว

คำถาม. การเทรดตามโมเมนตัมเหมาะกับเทรดเดอร์ทุกคนหรือไม่

การเทรดตามโมเมนตัมจำเป็นต้องมีการเฝ้าติดตามอย่างจริงจัง มีทักษะในการวิเคราะห์ทางเทคนิค และมีความเต็มใจยอมรับความเสี่ยงในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับเทรดเดอร์ทุกราย โดยเฉพาะเทรดเดอร์ที่มีวิธีการลงทุนแบบดั้งเดิมหรือการลงทุนระยะยาว เทรดเดอร์ควรประเมินความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงและรูปแบบการเทรดของตนก่อนที่จะเทรดตามโมเมนตัม

คำถาม. การเทรดตามโมเมนตัมมีข้อควรระวังหรือไม่

การเทรดตามโมเมนตัมมีข้อควรระวังไม่ต่างจากกลยุทธ์การซื้อขายอื่นๆ ข้อควรระวังที่สำคัญคือความเป็นไปได้ที่จะเกิดสัญญาณผิดพลาดหรือการกลับตัวกะทันหัน ซึ่งอาจนำไปสู่การขาดทุนหากไม่มีการบริหารจัดการที่เหมาะสม นอกจากนั้น ความผันผวนสูงและความเคลื่อนไหวของราคาอย่างรวดเร็วอาจเพิ่มระดับความเสี่ยงที่มาพร้อมกับการเทรดตามโมเมนตัม

คำถาม. สามารถใช้การเทรดตามโมเมนตัมร่วมกับกลยุทธ์อื่นได้หรือไม่

คุณสามารถใช้การเทรดตามโมเมนตัมร่วมกับกลยุทธ์และวิธีการอื่นได้ เทรดเดอร์บางรายใช้หลากหลายกลยุทธ์ โดยผสมผสานการเทรดตามโมเมนตัมกับการติดตามแนวโน้ม การเทรดแบบ Mean Reversion หรือการวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐาน สิ่งสำคัญคือการพัฒนาแผนการเทรดที่สอดคล้องกับรูปแบบและวัตถุประสงค์ในการเทรดของตัวเราเอง


ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาไม่อาจใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ผลการดำเนินงานในอนาคต เงินลงทุนของคุณมีความเสี่ยง โปรดเทรดอย่างรอบคอบ


ผู้เขียน:

Paul Reid

Paul Reid

พอล รีด เป็นนักข่าวด้านการเงินที่ทุ่มเทในการเผยให้เห็นถึงความเชื่อมโยงพื้นฐานที่ซ่อนอยู่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เทรดเดอร์ พอลมีความสนใจด้านตลาดหุ้นเป็นพิเศษ โดยสามารถอ่านเกมการเปลี่ยนแปลงของบริษัทใหญ่ๆ ได้อย่างเฉียบขาดจากการติดตามตลาดการเงินมายาวนานกว่าทศวรรษ