กลยุทธ์การเทรดแบบ Scalping และโอกาสได้รับผลกำไรในระยะสั้น
ด้วย Paul Reid

ในบรรดากลยุทธ์การเทรดที่ใช้กันโดยทั่วไปจำนวนมาก Scalping มีความโดดเด่นเพราะมีวิธีการที่น่าทึ่งและไม่เหมือนใคร เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ในแต่ละวัน การเทรดแบบ Scalping เกิดจากความต้องการได้รับกำไรอย่างรวดเร็วจากการเปลี่ยนแปลงของราคาในระยะสั้น และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในกลุ่มเทรดเดอร์ที่ประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว หากคุณให้ความสำคัญกับผลลัพธ์รายวัน กลยุทธ์การเทรดแบบ Scalping อาจเป็นสิ่งที่คุณกำลังมองหาอย่างแน่นอน
ทำความเข้าใจกลยุทธ์การเทรดแบบ Scalping: กฎทอง 3 ประการ
โดยหลักการแล้ว การเทรดแบบ Scalping จะทำกำไรจากความผันผวนเล็กๆ น้อยๆ ของราคาภายในกรอบเวลาสั้นๆ โดยมีการดำเนินการคำสั่งซื้อขายปริมาณสูงต่อเนื่องกันอย่างรวดเร็ว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างกำไรจากการสะสมผลกระทบของการเคลื่อนไหวเล็กน้อยของราคาเหล่านี้
กลยุทธ์ Scalping มีหลากหลายรูปแบบ จึงมีหลักการเพื่อให้กลยุทธ์เหล่านี้สอดคล้องกัน สามปัจจัยที่ควรคำนึงถึงมีดังนี้
1 . ระยะเวลาการถือครองสั้น
Scalping เป็นการถือสถานะในช่วงเวลาที่สั้นมากๆ โดยมักจะอยู่ในช่วงตั้งแต่ไม่กี่วินาทีถึงไม่กี่นาที วิธีนี้ขัดแย้งกับกลยุทธ์การลงทุนแบบดั้งเดิมที่เน้นการถือครองสินทรัพย์เป็นระยะเวลานานขึ้นเพื่อจับแนวโน้มราคาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น
2 . เทรดบ่อยขึ้น
เทรดเดอร์ Scalping จะเทรดเป็นจำนวนมากตลอดช่วงเวลาซื้อขายหนึ่ง ความถี่ของการเทรดเป็นลักษณะเด่นของกลยุทธ์นี้ เนื่องจาก Scalper ต้องการสะสมกำไรด้วยการเข้าออกสถานะในอัตราที่สูง
3 . มีเป้าหมายกำไรเล็กน้อย
วัตถุประสงค์หลักของกลยุทธ์ Scalping คือต้องการส่วนต่างราคาเล็กๆ น้อยๆ ในการเทรดแต่ละครั้ง กำไรสะสมที่เพิ่มขึ้นทีละนิดจะรวมเป็นอัตราทำกำไรโดยรวมในกิจกรรมการเทรดของ Scalper
เทคนิคและปัจจัยทางเทคนิค
Scalping อาศัยเครื่องมือและอินดิเคเตอร์ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคเพื่อระบุแนวโน้มและการเคลื่อนไหวของราคาในระยะสั้น เทรดเดอร์สามารถใช้เครื่องมืออย่างเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่, RSI (Relative Strength Index), MACD (Moving Average Convergence Divergence) และ Fibonacci Retracement เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เทรดเดอร์ที่ใช้กลยุทธ์ Scalping อาจใช้เครื่องมือการเทรดอันทรงพลังเหล่านี้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
การตั้งค่าอินดิเคเตอร์ RSI
เทรดเดอร์ตั้งค่าแพลตฟอร์มการซื้อขายของตนให้แสดงอินดิเคเตอร์ RSI บนกราฟการเทรดที่เลือก โดยปกติแล้ว RSI จะใช้การตั้งค่า 14 ช่วง (การเฉลี่ยราคาใน 14 ช่วงเวลาซื้อขาย) เป็นค่าเริ่มต้น ซึ่งเหมาะสำหรับการเทรดระยะสั้นทั่วไป แต่ผู้ที่ใช้กลยุทธ์การเทรดแบบ Scalping อาจใช้ช่วงที่แคบกว่านั้นที่ 9 ช่วง ซึ่งจะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงล่าสุดได้มากกว่าอย่างยิ่ง
RSI อยู่ในช่วงตั้งแต่ 0 ถึง 100 ตามหลักแล้ว เมื่อค่า RSI อยู่เหนือ 70 จะถือว่าราคาอยู่ในภาวะซื้อมากเกินไป ซึ่งแสดงว่าแนวโน้มราคาขาขึ้นอาจถึงเวลาที่จะมีการย่อตัวหรือการกลับตัวของราคา ในทางตรงกันข้าม หากค่า RSI ต่ำกว่า 30 จะถือว่าราคาอยู่ในภาวะขายมากเกินไป ซึ่งแสดงถึงโอกาสในการดีดตัวหรือการเคลื่อนไหวของราคาในขาขึ้น
เทรดเดอร์ติดตามค่า RSI บนสินทรัพย์ที่ตนเลือก สมมติว่าเทรดเดอร์กำลังเทรดคู่ฟอเร็กซ์ หาก RSI ตัดขึ้นมาเหนือระดับ 70 ซึ่งแสดงถึงภาวะซื้อมากเกินไป เทรดเดอร์อาจพิจารณาว่านี่เป็นสัญญาณที่มีโอกาสเข้าถือสถานะ Short (ขาย) โดยคาดการณ์ว่าจะมีการกลับตัวหรืออย่างน้อยอาจมีการย่อตัวจากการเคลื่อนไหวขาขึ้นล่าสุด
เมื่อเทรดเดอร์ที่ใช้กลยุทธ์ Scalping เปิดสถานะตามสัญญาณ RSI เทรดเดอร์ยังอาจตั้งเป้าหมายกำไรให้แคบสำหรับการเปลี่ยนแปลงเพียงไม่กี่ปิ๊ป นอกจากนี้ เทรดเดอร์ยังอาจตั้งคำสั่ง Stop Loss เหนือจุดสูงสุดล่าสุดเล็กน้อยเพื่อปกป้องสถานะในกรณีที่ราคาขึ้นต่อ ทำให้การเทรดของตนขาดทุน
การตั้งค่าอินดิเคเตอร์ MACD
การใช้ MACD มีวัตถุประสงค์เพื่อระบุการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงของโมเมนตัมที่อาจเกิดขึ้น อินดิเคเตอร์นี้ประกอบด้วยสามส่วน ดังนี้
เส้น MACD คือส่วนต่างระหว่างเส้นค่าเฉลี่ยสองเส้น
เส้นสัญญาณ คือเส้นค่าเฉลี่ยของเส้น MACD
ฮิสโตแกรมคือส่วนต่างระหว่างเส้น MACD กับเส้นสัญญาณ
โดยทั่วไปจะมีการตั้งค่าเริ่มต้นที่เส้นค่าเฉลี่ยประเภท Exponential (EMA) 12 ช่วงและ 26 ช่วงสำหรับเส้น MACD และ EMA 9 ช่วงสำหรับเส้นสัญญาณ
เมื่อเส้น MACD ตัดขึ้นเหนือเส้นสัญญาณ ก็จะเกิดสัญญาณแนวโน้มขาขึ้น บ่งชี้ว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงโมเมนตัมขาขึ้น ในทางกลับกัน จะเกิดสัญญาณแนวโน้มขาลงเมื่อเส้น MACD ตัดลงต่ำกว่าเส้นสัญญาณ บ่งชี้ว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงโมเมนตัมขาลง
สมมติว่าเทรดเดอร์ Scalping กำลังติดตามหุ้นตัวหนึ่งอยู่ หากเส้น MACD ตัดขึ้นเหนือเส้นสัญญาณและเกิดสัญญาณแนวโน้มขาขึ้น เทรดเดอร์ที่ต้องการจุดเข้าและออกที่รวดเร็วอาจแปลสัญญาณนี้เป็นโอกาสสำคัญในการเข้าถือสถานะ Long (ซื้อ) โดยคาดว่าจะมีการเคลื่อนไหวของราคาขาขึ้นในระยะสั้น
การใช้ระดับ Fibonacci Retracement
ก่อนใช้ Fibonacci Retracement บนแพลตฟอร์มการเทรด เทรดเดอร์ต้องระบุแนวโน้มปัจจุบัน รวมถึงจุดแกว่งตัวสำคัญสองจุดภายในแนวโน้มดังกล่าวเพื่อใช้วาดระดับ Fibonacci Retracement นั่นคือจุดเริ่มต้น (ต่ำสุด) และจุดสิ้นสุด (สูงสุด)
ระดับที่ใช้กันโดยทั่วไปคือ 23.6% (0.236), 38.2% (0.382), 50% (0.5), 61.8% (0.618) และ 78.6% (0.786) ระดับเหล่านี้แสดงถึงบริเวณแนวรับ (ในแนวโน้มขาขึ้น) หรือแนวต้าน (ในแนวโน้มขาลง) ที่เป็นไปได้ ซึ่งราคาอาจมีการกลับตัวหรือดีดกลับ
เมื่อราคาย้อนกลับมายังระดับ Fibonacci หนึ่ง อาจเป็นโอกาสในการเข้าเทรดในทิศทางของแนวโน้มที่มีอยู่
สำหรับเทรดเดอร์ระยะยาวที่เทรดตามแนวโน้มขาขึ้น หากราคาย้อนกลับมายังระดับ Fibonacci 61.8% และแสดงสัญญาณการดีดกลับ อาจพิจารณาเข้าถือสถานะ Long (ซื้อ) โดยคาดว่าราคาจะเคลื่อนไหวเป็นขาขึ้นต่อ ขณะที่กลยุทธ์ Scalping จะมุ่งเน้นการเคลื่อนไหวของราคาที่เล็กน้อยกว่านั้น และมักจะเปิดสถานะ Long เมื่อราคาแตะระดับ 38.2% มากกว่า
เนื่องจากการเทรดแบบ Scalping มีวัตถุประสงค์เพื่อทำกำไรจากการเคลื่อนไหวของราคาเล็กน้อย เทรดเดอร์จึงอาจตั้งเป้าหมายกำไรให้แคบตามการดีดกลับจากระดับ Fibonacci ที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ยังอาจตั้งคำสั่ง Stop Loss ต่ำกว่าระดับ Fibonacci เล็กน้อยเพื่อจัดการความเสี่ยง
เทรดเดอร์มักมองหาความสอดคล้องกันของระดับ Fibonacci และปัจจัยทางเทคนิคอื่นๆ เช่น เส้นแนวโน้ม เส้นค่าเฉลี่ย หรือรูปแบบกราฟแท่งเทียน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับสัญญาณของตน การใช้รูปแบบกราฟ เช่น สามเหลี่ยม ธง และธงสามเหลี่ยม ร่วมกับเครื่องมือต่างๆ ข้างต้นจะช่วยให้ Scalper สามารถคาดการณ์การเคลื่อนไหวของราคาในระยะสั้นได้
ความท้าทายและข้อควรพิจารณา
Scalping จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการคำสั่งซื้อขายที่รวดเร็ว ซึ่งทำให้ต้องมีแพลตฟอร์มการซื้อขายที่น่าเชื่อถือและรวดเร็วด้วย ความล่าช้าในการดำเนินการคำสั่งซื้อขายเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลอย่างมากต่อกำไรของ Scalper
เนื่องจากการเทรดมีความถี่สูง ต้นทุนการทำธุรกรรม เช่น สเปรดและค่าคอมมิชชั่นจึงสามารถสะสมได้อย่างรวดเร็วและบั่นทอนกำไร
โปรดระลึกเสมอว่าในการ Scalping นั้น ความผันผวนอาจเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในกรณีที่ราคามีการเปลี่ยนแปลงกะทันหันในทิศทางตรงกันข้าม Scalper จึงจำเป็นต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับสภาพตลาดที่ไม่คาดคิด คุณสมบัติการป้องกัน Stop Out ของ Exness ช่วยปกป้องเทรดเดอร์ของ Exness จากการ Stop Out ได้สูงสุดถึง 30% ด้าน VPS ของเราช่วยเพิ่มความรวดเร็วและความน่าเชื่อถือในการดำเนินการคำสั่งซื้อขาย และสเปรดต่ำก็ทำให้แพลตฟอร์มของเราน่าสนใจสำหรับเทรดเดอร์ที่ใช้กลยุทธ์ Scalping
บทสรุป
Scalping มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในโลกการเทรด เหมาะสำหรับบุคคลที่ประสบความสำเร็จจากการตัดสินใจที่รวดเร็วและต้องการผลลัพธ์ในทันที กลยุทธ์นี้มอบโอกาสในการสร้างกำไรที่สม่ำเสมอแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่ Scalping ก็มีต้นทุนธุรกรรมที่สูง ทั้งยังถูกเรียกว่าเป็นเกมที่วางแผนไว้แล้ว ซึ่งต้องอาศัยความมีวินัยทางอารมณ์ในการทำตามแผน และการตอบสนองที่รวดเร็วสูงในระหว่างช่วงเวลาซื้อขายแต่ละช่วง
เทรดเดอร์ที่สนใจกลยุทธ์นี้ควรทำการศึกษาค้นคว้าข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน เตรียมกลยุทธ์การจัดการความเสี่ยง และมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาทักษะ ท้ายที่สุดแล้ว Scalping เป็นกลยุทธ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงและต้องมีความใส่ใจสูง ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญทางเทคนิค ความคล่องตัวด้านความคิด และความเข้าใจในความซับซ้อนของตลาดอย่างลึกซึ้ง
ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาไม่อาจใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ผลการดำเนินงานในอนาคต เงินลงทุนของคุณมีความเสี่ยง โปรดเทรดอย่างรอบคอบ
ผู้เขียน:

Paul Reid
พอล รีด เป็นนักข่าวด้านการเงินที่ทุ่มเทในการเผยให้เห็นถึงความเชื่อมโยงพื้นฐานที่ซ่อนอยู่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เทรดเดอร์ พอลมีความสนใจด้านตลาดหุ้นเป็นพิเศษ โดยสามารถอ่านเกมการเปลี่ยนแปลงของบริษัทใหญ่ๆ ได้อย่างเฉียบขาดจากการติดตามตลาดการเงินมายาวนานกว่าทศวรรษ