ชวนรู้จักกับ ‘แนวรับ แนวต้าน’ เทคนิคการวิเคราะห์ที่นักลงทุนควรรู้
ด้วย Team Exness

ในโลกของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ฟอเร็กซ์ หรือคริปโตเคอร์เรนซี แน่นอนว่านักลงทุนต่างก็แสวงหาเครื่องมือและกลยุทธ์ที่จะเข้ามาช่วยให้พวกเขาตัดสินใจหรือคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำมากที่สุด
และหนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมอย่างมากคือ การวิเคราะห์แนวรับและแนวต้าน ในบทความนี้เราจะชวนคุณมารู้จักกับ แนวรับ แนวต้าน โดยเน้นไปที่การอธิบายแนวคิดของแนวรับและแนวต้านคืออะไร มีประเภท หรือรูปแบบแบบไหน และเทคนิคการใช้งานเพื่อเพิ่มโอกาสในการเทรด
รู้จักกับ แนวรับ แนวต้าน คืออะไร?
‘แนวรับ แนวต้าน’ คือ หนึ่งในเทคนิคในการวิเคราะห์การเทรดดวยการคาดการณ์การเคลื่อนไหวของราคาเพื่อมองหาจุดที่จะเข้าไปทำรายการที่ได้เปรียบ
แนวรับ (Support)
แนวรับ (Support) คือ ระดับราคาที่คาดการณ์ว่าแรงซื้อจะเข้ามาหนุนราคา เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาร่วงลงต่อ และจะเด้งกลับไปทุกที วิธีสังเกตแนวรับ คือ บริเวณที่กราฟลงมาแตะบริเวณนั้นมากที่สุด
ตัวอย่างเช่น ตอนนี้หุ้นราคา 10 บาท แล้วราคาหุ้นขึ้นไปเป็น 11 บาท 12 บาท และยังคงสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดเสียดายขึ้นมา เราจึงรอเวลาเพื่อให้กลับลงมาที่ราคา 10 บาทเหมือนเดิม (ซึ่งเป็นราคาที่เราคิดว่าต่ำสุดแล้วเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้ที่เราเคยพลาดไป) และเข้าซื้อ ซึ่งอาจทำให้เกิดแรงซื้อจำนวนมากที่เปรียบเสมือน ‘กำแพง’ ที่กั้นไว้ไม่ให้ราคาต่ำลงไปมากกว่านี้ และทำให้เกิดการดันราคาเพื่อเปลี่ยนจากขาลงเป็นขาขึ้นนั่นเอง
แนวต้าน (Resistance)
แนวต้าน (Resistance) คือ ระดับราคาที่คาดการณ์ว่าแรงขายจะเข้ามาต้านราคา เพื่อป้องกันไม่ให้ราคาพุ่งขึ้นต่อ
ส่วน “แนวต้าน” ก็จะตรงกันข้ามกับแนวรับ คือ “แนวต้าน” เป็นระดับราคาที่มักจะมีแรงขายเทลงมาเนื่องจากเป็นระดับราคาที่นักลงทุนพลาดไม่ได้ขายก่อนหน้านั้น
ตัวอย่างเช่น ตอนนี้หุ้นราคา 10 บาท แล้วราคาขึ้นเป็น 20 บาท แต่เรายังไม่ขายเพราะคิดว่ามันสามารถขึ้นไปต่อได้ แต่ราคาหุ้นกลับต่ำลงจึงทำให้เกิดความเสียดาย ทำให้ตัดสินใจรอให้หุ้นกลับมาที่ราคา 20 บาทเหมือนเดิม ก็ทำให้คิดว่านี่คือราคาสูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเราและคนที่เคยพลาดไปครั้งหนึ่งก็จะเข้าขายในทันที จนทำให้เกิดเป็นแรงขายจำนนมาก เปรียบเสมือนกับ ‘กำแพง’ ที่กั้นไม่ให้ราคาขึ้นสูงไปมากกว่านี้ และทำให้เกิดการดันราคากลับตัวจากขาขึ้นเป็นขาลง
ดังนั้น หากให้อธิบายเพื่อให้เห็นภาพกันมากขึ้นล่ะก็ แนวรับและแนวต้าน เปรียบเสมือน "กำแพง" ที่มองไม่เห็นในกราฟราคา เป็นจุดที่ราคาสินทรัพย์มีแนวโน้มที่จะ "เด้งกลับ" หรือ "หยุด" การเคลื่อนที่
ซึ่งในทางจิตวิทยาจะมองว่าแนวรับและแนวต้านนั้นเกิดมาจากสภาพจิตใจและอารมณ์ของผู้ที่ทำการซื้อขายอยู่ในตลาด โดยแบ่งผู้ซื้อขายออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ซื้อและรอให้ราคาปรับตัวขึ้น
กลุ่มที่ขายและรอให้ราคาปรับตัวลง
กลุ่มที่กำลังรอเพื่อเข้ามาทำรายการ
ประเภทของ แนวรับ แนวต้าน
โดยประเภทของ แนวรับและแนวต้าน แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้ ระดับแนวรับและแนวต้านแบบคงที่, แนวรับและแนวต้านแบบไดนามิก และระดับแนวรับและแนวต้านแบบกึ่งไดนามิก
ระดับแนวรับและแนวต้านแบบคงที่
ระดับแนวรับและแนวต้านแบบคงที่ (Fixed Support and Resistance Levels) คือ จุดราคาที่เคยเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอดีต เช่น จุดสูงสุด/ต่ำสุดในช่วง 52 สัปดาห์ หรือเรียกง่ายๆ ก็คือ ราคาที่เคยเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอดีต
ซึ่งนักลงทุนมักจะใช้ข้อมูลในอดีตคาดการณ์แนวโน้มของตลาดว่ามีพฤติกรรมอย่างไรในอดีตเพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามผลลัพธ์ในอดีตไม่สามารถนำมารับประกันผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างแม่นยำ นักลงทุนจำเป็นต้องใช้วิจารณญาณในการลงทุนอย่างรอบคอบ
แนวรับและแนวต้านแบบไดนามิก
แนวรับและแนวต้านแบบไดนามิก (Dynamic Support and Resistance Levels) คือ การใช้วิธีอิงจากตัวชี้วัดทางเทคนิค เช่น เส้นค่าเฉลี่ย (Moving Average) เส้น Bollinger Bands
ซึ่งแนวรับและแนวต้านประเภทนี้จะเปลี่ยนแปลงตามเวลา และมักจะมีการปรับตามการเปลี่ยนของราคาล่าสุดเพื่อวางแผนและตัดสินใจเรื่องการเข้าทำรายการ เรียกง่ายๆ ก็คือ เป็นการคาดการณ์และวางแผนกับสถานการณ์ปัจจุบันของตลาด หากมีจุดที่เห็นแล้ววิเคราะห์ได้ว่าเป็นโอกาสก็จะพร้อมปรับเปลี่ยนแผนการในการทำรายการทันที
ระดับแนวรับและแนวต้านแบบกึ่งไดนามิก
ระดับแนวรับและแนวต้านแบบกึ่งไดนามิก (Semi-Dynamic Support and Resistance Levels) เป็นช่วงราคาที่ราคาทดสอบและยืนยันซ้ำๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงแรงซื้อ/ขายที่ระดับนั้น
วิธีการหาจุดซื้อขายหุ้นโดยการใช้ แนวรับ แนวต้าน
จุดสูงสุด/ต่ำสุด (Peaks and Troughs)
หมายถึง ระดับราคาสูงสุดหรือต่ำสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีตบนกราฟราคา เป็นจุดที่นักลงทุนให้ความสนใจ เพราะอาจส่งผลต่อทิศทางการเคลื่อนที่ของราคาในอนาคต
จุดสูงสุด (Peaks) เป็นจุดที่ราคาสินทรัพย์ "ขึ้นไปสูงสุด" ในช่วงเวลาหนึ่ง มักถูกมองเป็น "แนวต้าน" ที่อาจต้านทานการขึ้นต่อไปของราคา
จุดต่ำสุด (Troughs) เป็นจุดที่ราคาสินทรัพย์ "ลงไปต่ำสุด" ในช่วงเวลาหนึ่ง มักถูกมองเป็น
"แนวรับ" ที่อาจหนุนราคาไม่ให้ลงต่อ
ความสำคัญของจุดสูงสุด/ต่ำสุด
นักลงทุนใช้จุดสูงสุด/ต่ำสุด เพื่อวิเคราะห์ "แนวโน้มราคา"
จุดสูงสุด/ต่ำสุดในอดีต อาจส่งผลต่อ "ทิศทางราคา" ในอนาคต
จุดสูงสุด/ต่ำสุด เป็นเครื่องมือ "วิเคราะห์ทางเทคนิค" ที่ใช้กันทั่วไป
ตัวอย่าง
หุ้น A เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 1,000 บาท ต่อมาราคาร่วงลงมาแตะ 700 บาท
1,000 บาท กลายเป็น "จุดสูงสุด"
700 บาท กลายเป็น "จุดต่ำสุด"
นักลงทุนอาจคาดการณ์ว่า 1,000 บาท จะเป็น "แนวต้าน" ที่ต้านทานการขึ้นต่อไปของราคา
นักลงทุนอาจคาดการณ์ว่า 700 บาท จะเป็น "แนวรับ" ที่หนุนราคาไม่ให้ลงต่อ
ระดับฟีโบนักชี (Fibonacci levels)
หรือ สัดส่วนทองคำ (Golden Ratio) คือ ชุดระดับแนวรับและแนวต้านที่ได้มาจากลำดับ Fibonacci sequence ซึ่งเป็นลำดับตัวเลขที่เป็นผลรวมของตัวเลขสองตัวก่อนหน้าจนไปถึงค่าอนันต์ ได้แก่ 0, 1, 1, 2, 3, 5, 8, 13, 21, 34, 55, 89, 144, 233, 377… (สัดส่วน 23.6%, 38.2%, 61.8%, และ 78.6%)
โดยนักลงทุนจะใช้ Fibonacci retracement เพื่อหาจุดที่ราคามีโอกาสเด้งกลับเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มราคาและหาจุดเข้าซื้อ/ขายที่เป็นไปได้
ตัวอย่าง
หุ้น A ราคาอยู่ที่ 100 บาท
ราคาขึ้นไปสูงสุดที่ 120 บาท
ราคาร่วงลงมาแตะ 100 บาท
นักลงทุนอาจคาดการณ์ว่า แนวต้านอยู่ที่ 120 บาท (จุดสูงสุด), แนวรับอยู่ที่ 80 บาท (100 - (100 x 0.236)) และแนวรับถัดไปอยู่ที่ 60 บาท (100 - (100 x 0.382))
จุดหมุน (Pivot points)
คือ ระดับราคาที่คำนวณจากราคาสูงสุด ต่ำสุด และราคาปิดของ "วันก่อนหน้า" โดยจุดหมุนเหล่านี้ทำหน้าที่เป็น "แนวรับ/แนวต้าน" ที่เป็นไปได้ในวันถัดไป
เส้นแนวโน้ม (Trendlines)
คือ เส้นตรงที่ลากผ่านจุดสูงสุดหรือจุดต่ำสุดบนกราฟราคา เพื่อแสดง "ทิศทาง" ของราคาในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อใช้ประกอบการหาแนวโน้มราคา และคาดการณ์แนวรับ/แนวต้าน
โดยประโยชน์ของเส้นแนวโน้ม คือ ช่วยให้วิเคราะห์ "ทิศทาง" ของราคา, ช่วยให้หา "จุดเข้าซื้อ/ขาย" ที่เป็นไปได้ หรือช่วยให้ "ตั้ง Stop-loss" เพื่อจำกัดความเสี่ยงได้นั่นเอง
วิธีการเทรดด้วยเทคนิค แนวรับ แนวต้าน
การซื้อที่แนวรับ: เมื่อราคาร่วงลงมาแตะแนวรับ คาดการณ์ว่าแรงซื้อจะเข้ามาหนุนราคา จึงเป็นโอกาสซื้อ
การขายที่แนวต้าน: เมื่อราคาพุ่งขึ้นไปแตะแนวต้าน คาดการณ์ว่าแรงขายจะเข้ามาต้านราคา จึงเป็นโอกาสขาย
การตั้ง Stop-Loss: วาง Stop-Loss ไว้ใต้แนวรับ (สำหรับการซื้อ) หรือเหนือแนวต้าน (สำหรับการขาย) เพื่อจำกัดความเสี่ยง
การใช้ตัวชี้วัดอื่นประกอบ: ใช้ตัวชี้วัดทางเทคนิคอื่นๆ เช่น RSI, MACD เพื่อยืนยันสัญญาณซื้อ/ขาย
สรุป
ก่อนจบบทความนี้จะขอสรุปสั้นๆ อีกครั้งเกี่ยวกับ ‘แนวรับ แนวต้าน’ ว่า แนวรับ คือ ระดับราคาที่มีความต้องการซื้อมาก ส่วนแนวต้าน คือ ระดับราคาที่มีคนต้องการขายมาก แนวรับและแนวต้าน เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับนักลงทุน ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมของราคา สามารถคาดการณ์จุดเปลี่ยน และช่วยให้นักลงทุนตัดสินใจซื้อ/ขายได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องศึกษาหาความรู้ ฝึกฝน และใช้กลยุทธ์นี้ร่วมกับเครื่องมืออื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จในการเทรด
ข้อมูลนี้ไม่ถือเป็นคำแนะนำการลงทุน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาไม่อาจใช้เป็นเครื่องบ่งชี้ผลการดำเนินงานในอนาคต เงินลงทุนของคุณมีความเสี่ยง โปรดเทรดอย่างรอบคอบ
ผู้เขียน:
